กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหม่ไปแล้ว เมื่อหน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ผลการสำรวจขยะบริเวณชายหาดฮ่องกงของกลุ่มอาสามัคร เผยภาพหน้ากากอนามัยใช้แล้วกลายเป็นขยะเกลื่อนชายหาดและท้องทะเล สะท้อนระบบการจัดการปัญหาขยะที่ยังมีปัญหา หลังเกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และการแพร่ระบาดของ COVID-19
OceansAsia รายงานว่าทีมงานของเขามีโครงการสำรวจปัญหาขยะทางทะเลและไมโครพลาสติก บริเวณหมู่เกาะโซโค ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะลันเตา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเพิร์ล ของฮ่องกง โครงการดังกล่าวมีระยะเวลา 1 ปี ซึ่งตอนนี้ทำมาได้ 5 เดือนแล้ว
ซึ่งล่าสุดนอกจากขยะแบบอื่นๆ ที่เคยพบเป็นประจำระหว่างการสำรวจขยะ ก็จะมีขยะหน้าใหม่เพิ่มเข้ามานั่นคือหน้ากากอนามัยใช้แล้วหลายแบบที่กลายเป็นขยะเกลื่อนชายหาดมากขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากที่ชาวจีนและในหลายประเทศทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการสวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM 2.5 ตามมาด้วยการกระแสการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่คร่าชีวิตผู้ป่วยในหลายประเทศทั่วโลกไปแล้วอย่างน้อย 3,000 ราย ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัยในหลายประเทศ
OceansAsia ระบุว่า ในช่วงระยะเวาเพียง 5-6 เดือนที่ผ่านมา หน้ากากอนามัยใช้แล้วเหล่านี้ได้กลายมาเป็นขยะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์วิทยาทางทะเล สะท้อนถึงมาตรฐานระบบจัดการขยะของจีนและฮ่องกง เนื่องจากหน้ากากอนามัยจัดเป็น "ขยะติดเชื้อ" ที่จะต้องมีการกำจัดอย่างถูกวิธี